บริษัท ยูไนเต็ด เพาเวอร์ ออฟ เอเชีย จำกัด (มหาชน)

บริษัท ยูไนเต็ด เพาเวอร์ ออฟ เอเชีย จำกัด (มหาชน) (“บริษัท”) เดิมชื่อบริษัท ไซเบอร์แพลนเน็ต อินเตอร์แอคทีฟ จำกัด (มหาชน) โดยมีวัตถุประสงค์ในการประกอบธุรกิจพัฒนาซอฟต์แวร์เกมเพื่อจำหน่ายและการรับจ้างพัฒนาซอฟต์แวร์เกมให้แก่ลูกค้าทั้งในและต่างประเทศ ภายใต้เครื่องหมายการค้า “Cyberplanet Interactive” โดยในระยะเริ่มต้นของการดำเนินธุรกิจ บริษัทมุ่งเน้นการพัฒนาซอฟต์แวร์เกมสำหรับเครื่องคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคล (“เกมคอมพิวเตอร์”) หลังจากนั้นได้ขยายขอบเขตการทำธุรกิจ ไปสู่การพัฒนาซอฟต์แวร์เกมสำหรับโทรศัพท์เคลื่อนที่และการพัฒนาซอฟต์แวร์เกมสำหรับเครื่องเล่นเกมคอนโซล (Console Game) ซอฟต์แวร์เกมคอมพิวเตอร์เกมแรกที่บริษัทเป็นผู้พัฒนา เพื่อจัดจำหน่ายในประเทศคือเกม “Magic Chronicle” ซึ่งถือได้ว่าเกมแนววางกลยุทธ์ (Real-time Strategy) เกมแรกที่ผลิตโดยผู้ประกอบการชาวไทย ทำให้บริษัทเริ่มมีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักในฐานะเป็นหนึ่งในผู้บุกเบิกการพัฒนาซอฟต์แวร์เกมคอมพิวเตอร์ในประเทศไทย นอกจากนี้ในวันที่ 18 พฤษภาคม 2552 บริษัทได้ดำเนินการแปรสภาพบริษัทเป็นบริษัทมหาชน และได้จดทะเบียนเป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ (mai) เมื่อวันที่ 27 พฤษภาคม 2553 ในปี 2556 กลุ่มบริษัทได้ขยายธุรกิจสู่ภาคธุรกิจอสังหาริมทรัพย์โดยบริษัทได้ซื้อที่ดินนำมาพัฒนาและจัดสรรแบ่งขายเป็นแปลงที่อำเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา (“เขาใหญ่”) ภายหลังต่อมาในปี 2557 จากการที่บริษัทขยายธุรกิจสู่ภาคอสังหาริมทรัพย์ บริษัทได้ลงทุนในหุ้นสามัญของบริษัท โดมแลนด์ เอสเตท จำกัด (“DML”) คิดเป็นร้อยละ 98.00 มีผลทำให้บริษัทดังกล่าวเป็นบริษัทย่อยของบริษัท โดย DML เป็นเจ้าของโครงการ เดอะ พีโน่ เขาใหญ่ เป็นห้องชุดเพื่อขาย จำนวน 40 ห้อง และบริษัทได้ซื้อที่ดินเปล่า จำนวน 5 แปลง เนื้อที่รวม 18-3-77.6 ไร่ (7,577.6 ตารางวา) ตั้งอยู่ที่ ตำบลโคกกลอย อำเภอตะกั่วทุ่ง จังหวัดพังงา ซึ่งการซื้อที่ดินดังกล่าวเพื่อนำมาพัฒนาและจัดสรรแบ่งขาย เป็นการต่อยอดธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ของบริษัท

ในระหว่างปี 2558 - 2560 บริษัทได้ขยายธุรกิจสู่ภาคธุรกิจพลังงาน ซึ่งเป็นทางเลือกใหม่ของการลงทุนที่จะทำให้บริษัทมีโอกาสในการเพิ่มรายได้และสามารถสร้างผลกำไรให้แก่บริษัทนอกเหนือไปจากธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ที่บริษัทกำลังดำเนินการอยู่ ในการประชุมสามัญผู้ถือหุ้น ประจำปี 2558 ผู้ถือหุ้นได้มีมติอนุมัติการซื้อหุ้นสามัญของบริษัท อันดามันเพาเวอร์ แอนด์ ยูทิลิตี้ จำกัด (“APU”) จำนวน 3,400,000 หุ้น คิดเป็นร้อยละ 100 มีผลทำให้ APU เป็นบริษัทย่อยของบริษัท ซึ่ง APU ประกอบธุรกิจผลิตและจำหน่ายไฟฟ้าในโครงการ Pilot Project สำหรับโรงไฟฟ้า Gas Engine กำลังการผลิต 6-20 เมกกะวัตต์ ตั้งอยู่ ณ เมือง Kanbauk รัฐ Tanintharyi สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมาร์ ต่อมาภายหลัง APU ได้ทำการลดทุนทะเบียนจาก 340,000,000 บาท เป็น 316,200,000 บาท โดยแบ่งออกเป็นหุ้นสามัญจำนวน 3,162,000 หุ้น มูลค่าที่ตราไว้หุ้นละ 100 บาท นอกจากนี้ผู้ถือหุ้นยังมีมติให้เปลี่ยนชื่อบริษัทเป็น บริษัท ยูไนเต็ด เพาเวอร์ ออฟ เอเชีย จำกัด (มหาชน) และแก้ไขชื่อย่อหลักทรัพย์เป็น “UPA” เพื่อให้สอดคล้องกับธุรกิจพลังงานของบริษัท บริษัทมีการเปลี่ยนแปลงวัตถุประสงค์หลักในการประกอบธุรกิจและลักษณะการประกอบธุรกิจที่สำคัญหลายด้าน โดยได้ยกเลิกการดำเนินธุรกิจพัฒนาซอฟต์แวร์เกมเพื่อจำหน่ายและการรับจ้างพัฒนาซอฟต์แวร์เกม และเริ่มดำเนินธุรกิจต่างๆ ซึ่งแบ่งออกเป็น 3 ธุรกิจ คือ ธุรกิจพลังงาน ธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ และธุรกิจเทคโนโลยีและสารสนเทศ โดยดำเนินการผ่านบริษัท บริษัทย่อย อีกทั้งบริษัทได้จัดตั้งจัดตั้งบริษัทย่อยชื่อ บริษัท เมียนมาร์ ยูพีเอ จำกัด (“MUPA”) ซึ่งจดทะเบียนในประเทศสาธารณรัฐสหภาพเมียนมาร์ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อการก่อสร้างโรงไฟฟ้าและจัดจำหน่ายไฟฟ้า เมื่อวันที่ 22 ธันวาคม 2560 มีผู้ถือหุ้นจำนวน 1 ราย แสดงความจำนงในการใช้สิทธิของใบสำคัญแสดงสิทธิที่จะซื้อหุ้นสามัญของบริษัท (UPA-W1) จำนวน 185 หุ้น อัตราการใช้สิทธิใบสำคัญแสดงสิทธิ 1 หน่วย มีสิทธิที่จะซื้อหุ้นสามัญได้ 1 หุ้น ในราคาหุ้นละ 3 บาท ซึ่งทำให้บริษัทมีทุนจดทะเบียนชำระแล้วทั้งสิ้น 3,335,000,087.50 บาท ซึ่งประกอบด้วยหุ้นสามัญจำนวน 6,670,000,175 หุ้น มูลค่าหุ้นละ 0.50 บาท

ในระหว่างปี 2561 - 2563 เมื่อวันที่ 5 มีนาคม 2561 บริษัทและบริษัท พาราโบลิก โซลาร์ พาวเวอร์ จำกัด (บริษัทย่อยฯ ของบริษัท อันดามันเพาเวอร์ แอนด์ ยูทิลิตี้ จำกัด (APU)) ลงนามในสัญญาซื้อขายไฟฟ้า (PPA) กับการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค ในโครงการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนพื้นดินสำหรับหน่วยงานราชการและสหกรณ์ภาคการเกษตร พ.ศ. 2560 จำนวน 3 โครงการ กำลังการผลิตรวม 7.95 เมกกะวัตต์ ซึ่งประกอบด้วย 1.สหกรณ์ผู้ผลิตและผู้ใช้ปุ๋ยอินทรีย์ อำเภอกระแสสินธุ์ จำกัด จังหวัดสงขลา ขนาดกำลังการผลิตติดตั้งรวม 5 เมกกะวัตต์ 2.โครงการสหกรณ์ การเกษตรวิเชียรบุรี จำกัด จังหวัดเพชรบูรณ์ ขนาดกำลังการผลิตติดตั้งรวม 1.75 เมกกะวัตต์ และ 3.โครงการสหกรณ์การเกษตรกะทูน จำกัด จังหวัดนครศรีธรรมราช ขนาดกำลังการผลิตติดตั้งรวม 1.20 เมกกะวัตต์ โดยทั้ง 3 โครงการมีอัตราราคารับซื้อไฟฟ้าอยู่ที่ 4.12 บาท/หน่วย ระยะเวลารับซื้อไฟฟ้านับแต่วันที่จ่ายไฟฟ้าเข้าระบบเชิงพาณิชย์ 25 ปี โดยเริ่มตั้งแต่ปลายไตรมาสที่ 4 ของปี 2561 จนถึงปี 2586 ในเดือนตุลาคม 2561 บริษัท อินฟอร์เมติกซ์ พลัส จำกัด (บริษัทย่อย) ซึ่งบริษัทถือหุ้นร้อยละ 99.9997 ของทุนจดทะเบียน ได้เพิ่มทุนจดทะเบียนจำนวน 382,074,180 บาท จากทุนจดทะเบียนเดิมจำนวน 20,000,000 บาท เป็นทุนจดทะเบียน จำนวน 402,074,180 บาท โดยการออกหุ้นสามัญเพิ่มทุนจำนวน 38,207,418 หุ้น มูลค่าที่ตราไว้หุ้นละ 10 บาท และอนุมัติการจัดสรรหุ้นสามัญเพิ่มทุนของบริษัทย่อย ราคาหุ้นละ 10 บาท ให้แก่ผู้ถือหุ้นเดิมของบริษัทย่อย ตามสัดส่วนการถือหุ้นที่ผู้ถือหุ้นแต่ละรายถืออยู่ เพื่อปรับโครงสร้างทางการเงินของบริษัทย่อย นำไปชำระหนี้และเป็นเงินทุน และต่อมาภายหลังคณะกรรมการบริษัทมีมติอนุมัติให้ขายหุ้นสามัญใน บริษัท อินฟอร์เมติกซ์ พลัส จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทย่อย จำนวน 40,207,412 หุ้น หรือคิดเป็นร้อยละ 99.99 ของหุ้นสามัญที่จำหน่ายได้แล้วทั้งหมดในอินฟอร์เมติกซ์ ให้แก่ บริษัท เอ็มโซลูชั่น จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของบริษัท เซเว่น ยูทิลิตี้ส์ แอนด์ พาวเวอร์ จำกัด (มหาชน) (7UP) ในราคาสุทธิรวมทั้งสิ้น 25,000,000 บาท เนื่องจากธุรกิจของอินฟอร์เมติกซ์มีผลประกอบการขาดทุนอย่างต่อเนื่องและมีโอกาสในการฟื้นตัวที่ค่อนข้างต่ำ การจำหน่ายอินฟอร์เมติกซ์จะช่วยลดภาระจากการรับรู้ผลประกอบการขาดทุน ลดค่าใช้จ่ายในการดำเนินการและบริหารให้แก่บริษัทและลดภาระในการที่บริษัทต้องให้การสนับสนุนทางการเงินอีกด้วย นอกจากนี้ยังช่วยให้บริษัทมีแหล่งเงินทุนเพิ่มขึ้นสำหรับการใช้เป็นเงินหมุนเวียนในการประกอบธุรกิจของบริษัทให้สามารถใช้สำหรับการลงทุนในโครงการอื่นๆ ต่อมา ในปี 2562 บริษัทได้ขยายการลงทุนในการดำเนินธุรกิจด้านสาธารณูปโภค โดยบริษัทได้ลงทุนในโครงการน้ำประปา 1 โครงการ คือ โครงการน้ำประปาแสนดินใน สปป. ลาว โดยซื้อหุ้นร้อยละ 30 ของ บริษัท เอไอดีซี วอเตอร์ โฮลดิ้ง (สิงคโปร์) พีทีอี แอลทีดี (AIDC Water Holding (Singapore) Pte. Ltd.) (“AWH”) จาก บริษัท เอเชีย ลงทุน พัฒนาและก่อสร้าง จำกัด ผู้เดียว (“AIDC”) และเมื่อวันที่ 31 ตุลาคม 2562 บริษัทได้รับโอนหุ้นของ AWH จำนวน 2,160,300 หุ้น หรือคิดเป็นร้อยละ 30 ของจำนวนหุ้น ทั้งหมดของ AWH จาก AIDC เป็นที่เรียบร้อยแล้ว ซึ่งจะส่งผลให้บริษัทเป็นผู้ถือหุ้นทางอ้อม ใน บริษัท เอเชีย วอเตอร์ จำกัด (Asia Water Company Limited) (“AW”) (เดิมชื่อ บริษัท เอเชีย วอเตอร์ จำกัด ผู้เดียว (“AWS”)) ซึ่งเป็นผู้ดำเนินโครงการผลิตน้ำประปาแสนดินใน สปป. ลาว

สำหรับปี 2563 เมื่อวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2563 บริษัท เมียนมาร์ ยูพีเอ จำกัด (“MUPA”) ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของบริษัท ได้รับหนังสือจาก Electric Power Generation Enterprise (“EPGC”) อนุมัติให้ขยายระยะเวลาในการดำเนินการตามเงื่อนไขบังคับก่อน (Condition Precedent) จากเดิม คือ ภายใน 24 เดือน นับจากวันที่ของสัญญาซื้อขายไฟฟ้า เป็น ภายใน 90 เดือน นับจากวันที่ของสัญญาซื้อขายไฟฟ้า (กล่าวคือภายในวันที่ 27 กันยายน 2566) อย่างไรก็ดี ในการขยายระยะเวลาดังกล่าวอาจขึ้นอยู่กับการจัดหาปริมาณของก๊าซที่ EPGC จัดหาซึ่งคู่สัญญาจะได้มีการเจรจาและตกลงในเรื่องดังกล่าวต่อไป และ เมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 2563 ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยได้พิจารณาทบทวนกลุ่มอุตสาหกรรมและหมวดธุรกิจ ประจำปี 2563 จากข้อมูลแบบแสดงรายการข้อมูลประจำปี 2562 จากการพิจารณาตลาดหลักทรัพย์ฯ จึงเห็นควรปรับย้ายหลักทรัพย์ของบริษัท จากกลุ่มอุตสาหกรรมเทคโนโลยี (Technology) ไปยังกลุ่มอุตสาหกรรมทรัพยากร (Resources)

เมื่อวันที่ 22 กันยายน 2563 ที่ประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้น ครั้งที่ 1/2563 ที่ประชุมมีมติอนุมัติการเพิ่มทุนจดทะเบียนของบริษัทจากเดิม 3,335,000,087.50 บาท เป็น 5,335,000,087.50 บาท โดยการออกหุ้นสามัญเพิ่มทุนใหม่จำนวนไม่เกิน 4,000,000,000 หุ้น มูลค่าที่ตราไว้หุ้นละ 0.5 บาท พร้อมทั้งมีมติอนุมัติการจัดสรรหุ้นสามัญเพิ่มทุนดังกล่าว ให้แก่ผู้ถือหุ้นเดิมของบริษัทตามสัดส่วนจำนวนหุ้นที่ผู้ถือหุ้นแต่ละรายถืออยู่ (Rights Offering) โดยการเพิ่มทุนมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นแหล่งเงินทุนสำหรับบริษัทและหรือบริษัทย่อยในการลงทุนในหุ้นสามัญของบริษัท AIDC Solar Power Number 1 Pte.Ltd. (“AIDCSP 1”) และเพื่อเป็นเงินทุนหมุนเวียนเพื่อเพิ่มสภาพคล่องทางการเงิน และเงินทุนหมุนเวียนเพื่อดำเนินโครงการอื่นๆ ของบริษัทและหรือบริษัทย่อยไม่ว่าจะเป็นโครงการที่เกี่ยวกับธุรกิจพลังงาน ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ และธุรกิจสาธารณูปโภค

ในระหว่างวันที่ 8 - 15 ตุลาคม 2563 (รวม 5 วันทำการ) บริษัทได้เปิดให้ผู้ถือหุ้นเดิมจองซื้อและชำระค่าหุ้นสามัญเพิ่มทุนดังกล่าวแล้วและปรากฏว่า มีผู้จองซื้อหุ้นสามัญเพิ่มทุนดังกล่าวเป็นจำนวนทั้งสิ้น 3,460,342,750 หุ้น เมื่อวันที่20 ตุลาคม 2563 บริษัทได้ดำเนินการจดทะเบียนเปลี่ยนแปลงทุนชำระแล้วดังกล่าว ต่อกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ เป็นที่เรียบร้อยแล้ว ซึ่งทำให้บริษัทมีทุนชำระแล้ว 5,065,171,462.50 บาท แบ่งออกเป็นหุ้นสามัญ 10,130,342,925 หุ้น มูลค่าที่ตราไว้หุ้นละ 0.5 บาท และมีทุนจดทะเบียน 5,335,000,087.50 บาท โดยบริษัทจะยังคงเหลือหุ้นสามัญที่ยังไม่ได้จำหน่ายอยู่อีก จำนวน 539,657,250 หุ้น มูลค่าที่ตราไว้หุ้นละ 0.50 บาท ซึ่งเป็นหุ้นสามัญคงเหลือจากการจัดสรรให้แก่ผู้ถือหุ้นเดิมของบริษัทตามสัดส่วนจำนวนหุ้นที่ผู้ถือหุ้นแต่ละรายถืออยู่ (Rights Offering) ในครั้งนี้

เมื่อวันที่ 2 พฤสจิกายน 2563 บริษัท พาราโบลิก โซลาร์ พาวเวอร์ จำกัด (“PSP”) ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของบริษัทได้เข้าทำสัญญาซื้อขายหุ้นสามัญในบริษัท AIDC Solar Power Number 1 Pte. Ltd.(“AIDCSP 1”) กับ Asia Investment, Development & Construction Sole Co., Ltd. (“ผู้ขาย”) จำนวน 11,670,833 หุ้น คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 83.33 ของหุ้นที่จำหน่ายได้ทั้งหมดของบริษัท ที่ราคา 23.923 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (749.63 ล้านบาท โดยประมาณ) ซึ่ง AIDCSP เป็นบริษัทจำกัดจดทะเบียนจัดตั้งตามกฎหมายสิงคโปร์ มีวัตถุประสงค์หลักในการประกอบธุรกิจโดยการถือหุ้นในบริษัท Binh Thuan Solar Power Investment Joint Stock Company (“BSolar”) เป็นบริษัทที่ดำเนินโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ Song Luy 1 Solar Power Plant ในประเทศ เวียดนาม (“โรงไฟฟ้า Song Luy”) และเมื่อวันที่ 1 ธันวาคม 2563 PSP ได้ดำเนินการชำระราคาซื้อขายหุ้นครบตามจำนวนที่กำหนดในสัญญาเป็นที่เรียบร้อยแล้ว การเข้าลงทุนในบริษัท AIDCSP ในครั้งนี้ เป็นไปตามแผนกลยุทธ์ในการดำเนินธุรกิจของบริษัท และจะช่วยเพิ่มกำลังการผลิตของบริษัท รวมถึงเพิ่มศักยภาพในการสร้างรายได้ให้กับบริษัท อีกทั้งยังช่วยสร้างความมั่นคงและแข็งแรงของกระแสเงินสด และงบการเงินของบริษัทในระยะยาว เนื่องจากโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ของ B-Solar ได้ทำสัญญาซื้อขายไฟฟ้ากับ Vietnam Electricity (EVN) เป็นระยะเวลา 20 ปี อีกทั้งยังเป็นก้าวสำคัญในการช่วยเปิดโอกาสในการขยายการลงทุนของบริษัทในประเทศเวียดนาม รวมถึงกลุ่มประเทศ CLMV ต่อไปในอนาคต เพื่อตอบสนองแผนกลยุทธ์ในการดำเนินธุรกิจของบริษัทที่มุ่งเน้นการขยายธุรกิจอย่างต่อเนื่องและกว้างขวางยิ่งขึ้น

เมื่อวันที่ 12 พฤศจิกายน 2563 ที่ประชุมคณะกรรมการของบริษัทได้มีมติอนุมัติให้บริษัทเข้าลงทุนในหุ้นสามัญของบริษัท One Central Tower Company Limited (“One Central Tower”) จำนวน 338,400 หุ้น หรือ คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 33.84 ของหุ้นที่จำหน่ายได้แล้วทั้งหมดของ One Central Tower และเมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายน 2563 บริษัทและ One Central Tower ได้เข้าทำสัญญาซื้อขายหุ้นสามัญดังกล่าว One Central Tower เป็นบริษัทจำกัดจดทะเบียนจัดตั้งตามกฎหมายแห่งราชอาณาจักรกัมพูชา โดยมีวัตถุประสงค์หลักในการประกอบธุรกิจเกี่ยวกับการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ One Central Tower ถือครองที่ดินซึ่งตั้งอยู่ที่ National Road 1, Niroth Commune, Chbar Ompov, Phnom Penh ราชอาณาจักรกัมพูชา พื้นที่รวม 24,179 ตารางเมตร ซึ่งมีศักยภาพในการพัฒนาเป็นโครงการอสังหาริมทรัพย์ในรูปแบบต่าง ๆ เช่น เป็นพื้นที่เชิงพาณิชย์ อาคารสำนักงาน และที่อยู่อาศัย ซึ่งตั้งอยู่ห่างจากย่านธุรกิจใจกลางกรุงพนมเปญเพียง 2.5 กิโลเมตร และอยู่ฝั่งตรงข้ามของแม่น้ำ Bassac ซึ่งจัดเป็นเขตพัฒนาใหม่ในกรุงพนมเปญ การลงทุนใน One Central Tower เป็นการเปิดโอกาสให้บริษัทสามารถลงทุนในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ในต่างประเทศ อันเป็นการเปิดตลาดใหม่ให้กับบริษัทในประเทศกัมพูชา ซึ่งเป็นตลาดที่มีศักยภาพในการเจริญเติบโตทางธุรกิจ และเป็นหนึ่งในประเทศที่มีอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจสูงที่สุดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และเป็นการเปิดโอกาสของบริษัทสู่การลงทุนในโครงการอื่นๆ ในราชอาณาจักรกัมพูชา อาทิ โครงการด้านพลังงานและสาธารณูปโภค ซึ่งเป็นโครงการที่สอดคล้องกับเป้าหมายทางยุทธศาสตร์ของกลุ่มบริษัท ซึ่งปัจจุบันมีการลงทุนในโครงการต่าง ๆ ทั้งในประเทศไทย ประเทศเมียนมาร์ ประเทศลาว ประเทศเวียดนาม และในประเทศกัมพูชาจากการลงทุนครั้งนี้